การออมเงินถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเงิน เพราะสามารถต่อยอดไปได้ในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเป็นหลักประกันให้เราในช่วงเวลาฉุกเฉิน ไม่ว่าคุณจะทำงานในบริษัทหรือจะทำเป็น ฟรีแลนซ์ เองก็ตาม แต่หนึ่งในคำถามที่ยากพอ ๆ กันคือเรื่องของจำนวน ว่าออมเท่าไหร่ดี ถึงจะเหมาะ วันนี้เรามีคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณออมเงินได้ตามที่คุณต้องการ
ไม่มีตัวเลขที่ตายตัว อยู่ที่ว่าเราออมเงินว่าได้เท่าไหร่
สิ่งแรกที่เราต้องคุยกันก่อนคือเรื่องของจำนวนเงินออมในแต่ละเดือน ที่ไม่มีสูตรตายตัวว่าจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่ เดือนละกี่บาท เพราะว่าค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากถามว่าเงินเดือนเท่านี้ออมก็บาท คำตอบที่ได้อาจจะหลากหลาย แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน
โดยปกติแล้วเงินออมจะอยู่ที่ประมาณ 5-30 % ของเงินเดือนหรือรายได้ อันนี้สามารถที่จะลองนำไปปรับใช้กับตัวเราได้เลย
เงินเดือนน้อยก็ออมเยอะได้ ถ้ารายจ่ายไม่มาก
สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มงานใหม่ไม่นานหรือ Frist Jobber การเก็บเงินอาจจะดูเป็นเรื่องยากลำบาก หากจะให้พูดเป็นตัวเลข แต่ค่าเฉลี่ยในการเริ่มต้นของเงินออมนั้น 5-10 % ของรายได้ต่อเดือนถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะไม่น้อยจนเกินไป และไม่มากจนใช้ชีวิตลำบาก นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกวินัยในการออมเงินอีกด้วย
โดยในช่วงเวลานี้อาจจะค่อย ๆ ปรับสัดส่วนของเงินออม ให้ขึ้นลงได้ตามแนวทางการใช้ชีวิต บางเดือนหากรายได้เราเยอะ ก็อาจจะเก็บเยอะหน่อย หากบางเดือนค่าใช้จ่ายของเรามาก ก็อาจจะลดสัดส่วนของการออมเงินลง เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้ชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือต้องออมให้ได้ทุกเดือน
แต่หากว่าคุณมีรายได้เยอะกว่ารายจ่ายหลายเท่า การออมในสัดส่วน 30%หรือ 1 ใน 3 ของเงินเดือน ถือว่ากำลังดีเลย โดยสัดส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม เนื่องจากโดยปกติแล้วเรามักจะใช้เงิน 50-60% ไปกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การออมที่ 30% จะช่วยทำให้เราสามารถนำเงินไปซื้อของที่เราอยากได้มากขึ้น และไม่ยากจนเกินไป
ยิ่งออมเยอะยิ่งเห็นผลเร็ว
หากว่าใครเก็บเงินได้สักพักจะรู้ว่า ยิ่งเราออมเงินแต่ละเดือนมากเท่าไหร่ ยิ่งเวลาผ่านไปผลของเงินออมจะยิ่งเห็นผลมาก ยกตัวอย่างเช่น
สมมุติเรามีเงินเดือน 25,000 บาท ออมเงิน 10% ของเดือนหรือเดือนละ 2,500 บาท ในหนึ่งปีเราจะมีเงิน 30,000 บาท แต่หากเราออมเงินเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของเดือนหรือเดือนละ 3750 บาท ในระยะเวลาเท่ากัน เราจะมีเงินเก็บถึง 45,000 บาท จะเห็นได้ว่าระยะเวลาเท่ากัน แต่ออมเงินเพิ่มเพียง 5% ของเงินเดือนเราจะมีเงินเก็บมากขึ้นหลายบาทเลยทีเดียว
นี่ยังไม่นับดอกเบี้ยจากเงินฝากหรือเงินปันผลจากกองทุนที่เราออมเงินไว้ ที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากเงินออมของเราขึ้นไปอีกหลายบาท
ออมแบบไหนดี
มาถึงเรื่องของวิธีการในการออมเงินกันบ้าง โดยในส่วนของวิธีการออมเงินหลัก ๆ นั้นแบ่งออกเป็นสองวิธีได้แก่
หนึ่งออมเงินด้วยตัวเอง วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่มีวินัยในตัวเองสูง โดยทุกครั้งที่เงินเดือนเข้ามาในบัญชีของเรา ก็หักเงินเก็บไปยังอีกบัญชีหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับบัญชีที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ในทุก ๆ เดือนเป็นต้น วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถนำเอาเงินออมมาใช้ได้ตลอดเวลาในยามขัดสน แต่ข้อเสียก็คือการที่เก็บเงินแบบนี้เข้าง่ายก็นำเอาออกมาใช้ง่ายเช่นกัน
หรืออีกหนึ่งวิธีคือหากเราทำงานในบริษัทไหนที่มีกองทุนสำรองชีพหรือกองทุนพนักงาน ก็สามารถออมผ่านกองทุนได้ โดยใช้วิธีในการหักผ่านเงินเดือนไปเลย ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือหักจากเงินเดือนไปเลย ไม่ต้องห่วงเรื่องเงินออม แต่ข้อเสียคือหากเราต้องการจะใช้เงินด่วน อาจจะต้องใช้เวลานานในการที่จะนำเอาเงินส่วนนี้ออกมา ซึ่งในบางครั้งอาจจะหมายถึงการลาออกจากกองทุนเลยทีเดียว
อีกหนึ่งวิธีที่หลาย ๆ คนแนะนำคือการออมในรูปแบบของกองทุน ออมแบบประกันหรือพันธบัตร วิธีจะได้ผลตอบแทนดีกว่าการออมแบบปกติ แต่ในอาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษาให้ดีว่า กองทุนไหนน่าลงทุน ผลตอบแทนเป็น อย่างไร รวมไปถึงสภาพคล่องและความเสี่ยงในการลงทุนเป็นต้น
ฟรีแลนซ์ออมเงินอย่างไร
สำหรับใครที่เป็นฟรีแลนซ์ อาจจะไม่ได้มีเงินเข้ามาเป็นเวลาหรือประจำเหมือนกับคนได้เงินเดือน แต่ก็สามารถที่จะออมเงินได้ โดยอาจจะใช้วิธีการออมเช่น หัก 20% ทุกครั้งที่ได้รับการจ้างงานหรือหัก 20% ของรายได้จากทุกชิ้นงาน ก็สามารถทำได้เช่นกัน
สรุปท้ายบทความ
การออมเงินถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเงิน โดยเงินออมในแต่ละเดือนนั้นไม่มีความตายตัว อยู่ที่เราจะปรับใช้ตามความเหมาะสมของเรา ที่สำคัญคือเราจะต้องอย่างต่อเนื่อง แรก ๆ อาจจะยากหน่อย แต่หากเพื่อน ๆ ทำจนเป็นนิสัยแล้ว อนาคตทางการเงินสบายแน่นอน