อาการเวียนหัว หรือ อาการวิงเวียนศีรษะ สามารถอธิบายเป็นความรู้สึกได้ที่หลากหลาย (Headache) เช่น อาการมึนงงบ้านหมุน หรือสิ่งรอบตัวแกว่งไปมาอย่างยุ่งเหยิง มีเสียงในหูอื้อๆ จนถึงความรู้สึกเบาหวิวจนเป็นลมวูบหมดสติไป และเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายอาการวิงเวียนหัวของแต่ละบุคคล โดยสาเหตุการเกิดอาการเวียนหัวมีมากมายจึงไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดจากการสังเกต จึงต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ สาเหตุของอาการเวียนหัวสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ สาเหตุที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน และสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติภายใน
สาเหตุที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน
ร่างกายขาดน้ำ
การขาดน้ำหรือดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ความร้อนภายในร่างกายสูงเกินไป และส่งผลทำให้ของเหลวภายในระบบโลหิตมีปริมาณน้อย จะส่งผลให้เลือดหนืด ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงและทำให้เกิดอาการเวียนหัว
ขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งทำให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์หรือมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อร่างกาย จึงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจเกิดจากการกินอาหารที่ขาดส่วนประกอบของธาตุเหล็ก
ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
จะทำให้เกิดอาการเวียนหัวไปจนถึงขั้นเป็นลมหน้ามืดได้ อาจเกิดจาการอดอาหารหรือกินอาหารไม่ตรงเวลา ความไม่สมดุลของฮอร์โมน การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
อาการเมารถ
การอยู่ในยานพาหนะ เช่น รถยนต์ เครื่องบิน หรือเรือ สามารถรบกวนโครงสร้างของหูชั้นในทำให้เวียนศีรษะคลื่นไส้และอาเจียน
อาการเมาค้าง
หลังจากงานปาร์ตี้สุดเหวี่ยง แอลกอฮอล์ที่ดื่มในปริมาณมากจะถูกเปลี่ยนเป็นของเสียที่รอขับออกทางปัสสาวะและได้ถูกสะสมตามร่างกาย ซึ่งมีผลต่อออาการขาดน้ำ และการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ จึงทำให้เกิดอาการเวียนหัว
พักผ่อนไม่เพียงพอ
เนื่องจากสมองขาดการพักผ่อนจึงทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงส่งผลต่อฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย เกิดความเครียด อาการไมเกรน เวียนหัว ปวดเบ้าตา
ใช้งานสายตาอย่างหนัก
การใช้สายตาเพ่งติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ตาล้า ปวดตา ร่วมกับอาการเวียนหัวได้
การเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว
เช่น การนั่งหรือลุกขึ้นอย่างฉับพลัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตที่รุนแรง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
ผลข้างเคียงของการใช้ยา
เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมบ้าหมู โรคหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนหัวในคนไข้บางราย
ความเครียดวิตกกังวล
การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กดดันท้าทาย ความเครียดสมองจะปล่อยฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด โดยฮอร์โมนนี้ทำให้หลอดเลือดแคบลง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ทำให้หายใจเร็วและถี่ขึ้น จนเกิดอาการเวียนหัว
การปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
อุณหภูมิที่สุดขั้วอย่างเย็นจัด จะทำให้เส้นเลือดบริเวณหัวหรือขมับหดตัวลง จึงเกิดอาการเวียนหัวหรือปวดหัวได้ เช่น การอาบน้ำเย็นจัด การกินน้ำแข็งหรือเครื่องดื่มเย็นจัด หรือการอยู่สลับสับเปลี่ยนระหว่างอากาศในห้องแอร์กับอากาศภายนอกอาคารที่แดดจ้าร้อนระอุ เป็นต้น
จากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
เช่น ก๊าซพิษคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ หากสูดดมจนเกิดค่ามาตรฐานจะทำให้เกิดอาการเวียนหัว และคลื่นไส้ได้
สาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย
เกิดความผิดปกติของหูชั้นใน
ความผิดปกติของหูชั้นในเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการวิงเวียนหัวเรื้อรัง เช่น อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน
จากการติดเชื้อหรืออาการเจ็บป่วย
เช่น หากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดเป็นระยะเวลานานเป็นสัปดาห์ อาจจะทำให้ไวรัสลุกลามไปที่หูและเส้นประสาทการได้ยินจนเกิดอาการเวียนหัวรุนแรงนานหลายวันได้
เกิดความผิดปกติของสมอง
เช่น การเกิดเนื้องอกในสมอง การที่บริเวณหัวเคยได้รับบาดเจ็บ เช่น การกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกกะโหลกแตกหัก เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เป็นต้น
มีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดอย่างเฉียบพลัน
เช่น หัวใจเต้นเร็วอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ โรคเส้นเลือดตีบหรืออุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อาการหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน
วัยหมดประจำเดือน (Menopause) จะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเริ่มขาดสมดุล โดยเฉพาะความแปรปรวนของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน
โรคโลหิตจาง
ทำให้ร่างกายมีภาวะเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์ หรือปริมาณที่ไม่เพียงพอที่จะลำเลียงออกซิเจน ทำให้หลอดเลือดสมองขยายตัว เกิดอาการเวียนหัว หากขาดออกซิเจนขั้นรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ได้
อาการไมเกรน
เริ่มจากการเวียนหัวไปจนถึงปวดหัวอย่างรุนแรง โดยสาเหตุมาจากความเครียด การเห็นแสงจ้า หรือได้ยินเสียงจากบางสิ่งรบกวน
แพ้ท้อง
อาการเวียนหัว จากการแพ้ท้อง จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย หรืออาจเกิดภาวะ Hyperosmia หรืออาการแปรปรวนด้านการรับรสและกลิ่นสูงขึ้นร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวนี้จะเกิดในช่วงประมาณ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และจะเกิดตอนตื่นนอน (Morning Sickness) โดยมีหลายสาเหตุ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (HCG – Human Chorionic Gonadotropin) ที่รกสร้างสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไวต่อกลิ่นและแปรปรวนในการประมวลผลกลิ่น
การดูแลและป้องกันอาการเวียนหัวเบื้องต้น
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัวเรื้อรัง เช่น ความเครียดวิตกกังวล การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับสารก่อภูมิแพ้จากการกินอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หวานมัน รสจัดหรือเย็นจัด หรือการรับสารคาเฟอีน เช่น ชา น้ำอัดลม กาแฟ การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด
- ออกกำลังกายและบริหารประสาทการทรงตัวอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงสถานที่เสียงดัง และกิจกรรมที่กระทบกระเทือนบริเวณหู
- ก่อนการใช้ยาเพื่อการรักษาโรคอย่างถูกต้องและปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- หากมีอาการเวียนหัวบ่อยๆ จนนำไปสู่การคลื่นไส้อาเจียน เป็นลม เจ็บหน้าอก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและทำการวินิจฉัย