แหล่งรวมซอฟต์แวร์ และบทความไอที สาระน่ารู้ทั่วไปที่น่าสนใจ

โรคกระเพาะ ปวดท้อง แสบท้องบ่อยต้องรู้จักเชื้อ เอช.ไพโลไร H. Pylori

โรคกระเพาะ ปวดท้อง แสบท้องบ่อยต้องรู้จักเชื้อ เอช.ไพโลไร H. Pylori

ปี 2525 นายแพทย์ชาวออสเตรเลีย ชื่อ นายแพทย์โรบิน วอร์เรน (J.Robin Warren) ได้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งในกระเพาะอาหารที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหารและเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ในขณะนั้นความสำคัญของเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก แต่ ณ ปัจจุบัน การค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เอช.ไพโลไร ของนายแพทย์โรบิน วอร์เรน เป็นที่ยอมรับและเป็นการเปิดมิติใหม่ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งถือได้ว่าการค้นพบครั้งนี้ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติเป็นอย่างมาก

แบคทีเรีย เอช.ไพโลไร คืออะไร

เชื้อ เอช.ไพโลไร เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีรูปร่างเกลียว (Spiral) จะพบเชื้อได้ในกระเพาะอาหารของประชากรทั่วโลกมากถึง 50% เชื้อ เอช.ไพโลไร เป็นสาเหตุสำคัญของแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร เชื้อสามารถติดต่อกันได้จากการอยู่ใกล้ชิดกันในครอบครัว จากแม่สู่ลูกหรือจากการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยอาจมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และเชื้อสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานหลายสิบปี 

สำหรับในประเทศไทย พบว่า สาเหตุการติดเชื้อมาจากสภาวะแวดล้อม พันธุกรรม และการบริโภคอาหาร ซึ่งสายพันธุ์ของเชื้อจะแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับภูมิภาค โดยส่วนมากจะพบอัตราการติดเชื้อตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่การแสดงออกทางอาการส่วนมากจะพบได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ความสัมพันธ์ของเชื้อ เอช.ไพโลไร กับมะเร็งในกระเพาะอาหาร

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันให้ความสำคัญต่อเชื้อ เอช.ไพโลไร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร เริ่มต้นจากเชื้อนี้ทำให้มีการอักเสบของกระเพาะอาหาร และทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารอย่างช้าๆ ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า แผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง (Chronic Atrophic Gastritis) ซึ่งไม่มีอาการ แต่จะมีผลทำให้เกิดพยาธิสภาพต่างๆ เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะโลหิตจางที่เรื้อรังและรุนแรง (Perinccious Anemia) หรือแม้กระทั่งกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ โดยประมาณการว่าผู้ที่มีเชื้อ เอช.ไพโลไร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติถึง 8-9 เท่า